กรมเจ้าท่าเอาจริงหลัง 23ก.พ. คุมเข้มงานจัดระเบียบน่านน้ำ
กรมเจ้าท่าฮึดจัดระเบียบน่านน้ำไทย ออกโรงเตือนดีเดย์ 23 ก.พ.นี้เตรียมพร้อมบังคับใช้กฎหมายใหม่ สั่งเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแจ้งรายละเอียดถึง 22 มิ.ย.นี้ รองอธิบดี "ณัฐ จับใจ" ประกาศลั่นหากเพิกเฉยจะดำเนินการสูงสุดตามกฎหมาย ทั้งรื้อทิ้ง-ปรับหนัก แถมมีค่าปรับรายวันอีกตารางเมตรละ 2 หมื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 23 ก.พ. 2560 พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 ของกรมเจ้าท่า (จท.) ที่ปรับปรุงใหม่จะมีผลบังคับใช้ โดยสาระสำคัญมีเจตนารมณ์เพื่อควบคุมการปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดลงไปในแม่น้ำ ลำคลอง ทะเล ชายหาดสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการรักษาลำน้ำสำหรับการพาณิชยนาวี การเกษตรกรรม และการป้องกันอุทกภัย
ทุกอย่างเริ่มต้น 23 ก.พ. 60
โดยสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำที่ไม่เคยได้รับอนุญาต หรือเคยได้รับอนุญาตแต่ปลูกสร้างไม่เป็นตามรูปแบบที่ได้รับอนุญาต ก่อนวันที่ 23 ก.พ. 2560 ต้องดำเนินการดังนี้
1. เจ้าของหรือผู้ครอบครองสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำ แจ้งต่อกรมเจ้าท่าหรือสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา ที่สิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ ให้แจ้งภายในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ จากนั้นกรมเจ้าท่าจะแจ้งให้ท่านทราบว่า ออกใบอนุญาตให้ได้หรือให้ทำการรื้อถอนภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแบบการแจ้ง
2. กรณีออกใบอนุญาตให้แล้ว กรมเจ้าท่าแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองยื่นคำร้องเพื่อขอรับใบอนุญาต พร้อมชำระค่าปรับเพื่อการออกใบอนุญาตในอัตราตารางเมตรละไม่น้อยกว่า 500 บาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละ 10,000 บาท ซึ่งกรมเจ้าท่าหรือสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่สิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำตั้งอยู่ แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อฟ้องศาล ซึ่งเป็นโทษปรับคำนวณตามพื้นที่ตารางเมตรละไม่น้อยกว่า 500 บาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละ 10,000 บาท จากนั้นจะออกใบอนุญาตให้ภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารครบถ้วน
ส่วนผู้รับใบอนุญาตต้องชำระค่าตอบแทนรายปีในอัตรา 2 เท่าของอัตราตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 64 (พ.ศ. 2537) ออกตามความใน พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย 2556 โดยไม่ต้องชำระค่าตอบแทนรายปีย้อนหลัง
ไร้ใบอนุญาตต้องรื้อถอน
3. กรณีไม่ออกใบอนุญาตให้กรมเจ้าท่าจะออกคำสั่งให้ทำการรื้อถอนหรือแก้ไขสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำนั้นโดยกำหนดระยะเวลาให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 1 ปี แต่ไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยกรมเจ้าท่าหรือสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่สิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำตั้งอยู่แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อฟ้องศาลและมีโทษปรับคำนวณตามพื้นที่ตารางเมตรละไม่น้อยกว่า 500 บาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละ 10,000 บาท
หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำ โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเป็นของเจ้าของหรือผู้ครอบครองสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำที่ถูกรื้อถอน และมีอำนาจในการห้ามมิให้ผู้ใดใช้อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำนั้นจนกว่าจะมีการแก้ไข หรือรื้อถอนแล้วเสร็จ
4. ส่วนเจ้าของหรือผู้ครอบครองสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำที่ไม่เคยได้รับอนุญาตหรือเคยได้รับอนุญาตแต่ปลูกสร้างไม่เป็นตามรูปแบบที่ได้รับอนุญาตก่อนวันที่23 ก.พ. 2560 หากไม่ทำการแจ้งภายในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ จะมีหนังสือแจ้งให้ทำการรื้อถอน หรือแก้ไขสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี แต่ไม่น้อยกว่า 30 วัน
รวมถึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อส่งฟ้องศาล มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับคำนวณเป็นตารางเมตรของพื้นที่ที่ล่วงล้ำลำน้ำ ในอัตราตารางเมตรละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละ 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้จะต้องถูกปรับเป็นรายวันวันละไม่เกินตารางเมตรละ 20,000 บาท
หากผู้รับคำสั่งเพิกเฉยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำนั้น โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเป็นของเจ้าของหรือผู้ครอบครองสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำที่ถูกรื้อถอน และมีอำนาจในการห้ามมิให้ผู้ใดใช้อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำนั้นจนกว่าจะมีการแก้ไขหรือรื้อถอนแล้วเสร็จ
ปรับรายวันตร.ม.ละ2 หมื่น
อย่างไรก็ตาม ผู้ประสงค์ทำการปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำต้องดำเนินการขออนุญาตก่อนการดำเนินการ หากฝ่าฝืนปลูกสร้างก่อนได้รับอนุญาต หรือปลูกสร้างไม่เป็นตามรูปแบบที่ได้รับอนุญาตตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ.นี้เป็นต้นไป จะมีหนังสือแจ้งให้รื้อถอนหรือแก้ไขสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำนั้นให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี แต่ไม่น้อยกว่า 30 วัน และแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อส่งฟ้องศาล โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับคำนวณเป็นตารางเมตรของพื้นที่ที่ล่วงล้ำลำน้ำ ในอัตราตารางเมตรละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ต้องถูกปรับเป็นรายวันในอัตราวันละไม่เกิน 20,000 บาท/ตร.ม. หากเพิกเฉยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำ โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเป็นของเจ้าของหรือผู้ครอบครองสิ่งปลูกสร้าง
นายณัฐ จับใจ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ส่วนใหญ่เป็นการป้องกันสิ่งที่รุกล้ำน่านน้ำทุกประเภท โดยเพิ่มเติมข้อบัญญัติกฎหมายให้มีมาตรการเข้มข้น ปรับปรุงให้ทันสมัยและเพิ่มโทษให้แรง หากประกาศใช้มีผลย้อนหลังถึงปี 2515 หลังประกาศใช้ พ.ร.บ. ต้องออกกฎหมายลูกคือ กฎกระทรวงเพื่อออกระเบียบวิธีการบังคับใช้ ประเภทของสิ่งที่รุกล้ำ หากผิดตามที่กำหนดก็จะดำเนินการทันที