สาส์นจากนายกสมาคมฯ

 

สาส์น..นายอำนวย  เอื้ออารีมิตร

นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย

     สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย ได้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1981 ถึงวันนี้ครบรอบ 36ปีแล้ว ที่ผ่านมาธุรกิจปลาป่นโดยส่วนใหญ่ก็คงไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ มีการปรับตัว พัฒนาและขยายเจริญก้าวหน้าตามลำดับ เราได้ยกระดับปลาป่นของเราจนมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จากตัวเลขที่ส่งออกในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พอสรุปได้ว่าเราสามารถส่งออก 30-40% ของการผลิตในแต่ละปี ซึ่งผลที่ตามมาคือเสถียรภาพของราคาปลาป่นภายในประเทศ

    โรงงานจำต้องอยู่คู่ชุมชน ฉะนั้นในด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศ เราได้ให้ความสนใจปรับปรุง พัฒนาระบบขจัดกลิ่นของไอปลาป่น มิให้ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนรำคาญแก่ชุมชน และน้ำเสียที่ใช้บำบัดกลิ่น  ตลอดจนน้ำเสียจากกองปลาสด ก็ต้องมีระบบบ่อพักและบ่อบำบัดน้ำเสีย เพื่อหมุนเวียนใช้ในระบบ โดยไม่ปล่อยออกนอกโรงงาน อันจะส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำสาธารณะ มีการปรับปรุง พัฒนาและดูแลระบบอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ยอมรับได้ของภาครัฐและชุมชนในระดับที่น่าพอใจ

    แต่ปัจจุบันหลังจากที่ไทยประสพปัญหา IUU ในเรื่องของประมงและภาครัฐฯก็ใช้นโยบายเข้มข้นในการแก้ปัญหามีผลให้ปริมาณเรือ และปลาสดลดน้อยลง ตั้งแต่ปี 2557 จาก 4.2 ล้านตัน ลงมาที่ 3.8,3.2 และ 2.8-3.0 ตันในปี 2560 ธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมประมงต่อเนื่องต่างได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เมื่อปลาสดจากการจับปลาได้น้อย ผลตามมาคือราคาวัตถุดิบและสุดท้าย ก็กระทบกับต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้นมา โรงงานปลาป่นในหลายจังหวัดต้องปิดตัวไปในรอบ 3 ปีนี้กว่า 20 โรงงาน

    อุตสาหกรรมปลาป่นเราเป็นกลางน้ำ ต้องพึ่งพาเรือประมงและผลการจับปลาของพวกเขา ทุกอย่างที่ผ่านมาสมาคมฯและสมาชิกทุกท่านก็ได้ร่วมมือปรับปรุงทุกอย่างร่วมกับภาครัฐฯและเอกชนในการร่วมแก้ปัญหา IUU ด้วยกันมาตลอด ปัญหาความยั่งยืน ปัญหาแรงงาน ปัญหาการตรวจสอบย้อนกลับ ล้วนแต่ได้รับความร่วมมือที่ดีจากมวลสมาชิกโดยที่สมาคมฯเราเป็นแกนช่วยเหลือและประสานงาน

    ในเรื่องของ GMP-HACCP เราได้ผ่านการรับรองโรงงานกว่า 60 โรงงานในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา เรากำลังต้องพัฒนาปรับตัวเข้าหาความเป็นสากลมากขึ้น โดยการพัฒนาโรงงานเป็น GMP พลัส และ IFFO ในที่สุด เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมปลาป่นไทย คงต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปีจากนี้ ในการปรับปรุงและหามาตรการความร่วมมือร่วมใจ จากพวกเราทุกท่านในการบรรลุถึงจุดดังกล่าว เมื่อโลกเปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยนตามโลก จะอยู่นิ่งเฉยแบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว เราต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมปลาป่นเราต่อไป...