ตังเกเดือดสะท้อนปัญหา IUU 300 ข้อบังคับไม่ฟังเสียงชาวประมง

 

 

จ่ายผ่านบัญชีแต่ไม่มีตู้ ATM 

 

ปัญหาข้อแรกที่เร่งด่วนมากคือ ความเดือดร้อนจากประกาศของ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้เจ้าของเรือประมงต้องเปิดบัญชีธนาคารจ่ายเงินให้ลูกเรือประมงตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยมีการระบุให้เจ้าของเรือจัดทำหนังสือสัญญาจ้างและให้จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนผ่านบัญชีธนาคาร ทั้งนี้ตัวแทนกลุ่มประมงบางเสร่ จ.ชลบุรี ที่มีทั้งเรือประมงพื้นบ้านที่จ่ายค่าจ้างเป็นรายวันให้ลูกจ้าง และเรือประมงพาณิชย์ชี้ว่า การจ่ายค่าจ้างผ่านบัญชีนั้นมีปัญหาแน่ ๆ เพราะเรือประมงสามารถทำการประมงได้ปีละ 220 วัน ถ้าคิดเป็นเดือนตกเฉลี่ย 18 วัน ถ้าบังคับให้จ่ายเป็นรายเดือนคงไม่ได้ เพราะวันที่เหลือไม่ได้ออกทำการประมง จึงไม่รู้ว่าจะนำเงินที่ไหนมาจ่ายเป็นค่าแรง ซึ่งพื้นที่บางเสร่จะจ่ายเป็นรายวัน วันละ 450-600 บาท

 

ในประเด็นนี้ นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ออกระเบียบประกาศที่จะให้พี่น้องชาวประมงจะต้องจ่ายเงินเดือนผ่านธนาคารอย่างเดียว จะทำให้เกิดผลกระทบรุนแรง และทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา การออกประกาศ วันที่ 31 ตุลาคม 2560 และให้วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 มีผลบังคับใช้เลยนั้น “ไม่ถูกต้อง” เพราะไม่มีระยะเวลาให้ชาวประมงปรับตัว เท่ากับเป็นการบังคับให้ผิดกฎหมาย ในสัปดาห์นี้ต้องดูว่า อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะออกประกาศใหม่หรือไม่ เพื่อหาทางออก มิเช่นนั้น เรือประมงจะออกจากท่าไม่ได้เพราะจะมีความผิด

 

“การจ่ายเงินลูกน้องแบบบัญชีก็น่าจะมีปัญหาตามมา ไม่ว่าจะเป็นตู้ ATM หรือเรือบางลำมีการจ่ายเงินค่าแรงแบบรายสัปดาห์ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ผมเห็นว่า ควรหาข้อสรุปให้ได้ชัดเจนก่อนจึงดำเนินการบังคับใช้ ในวันนี้จึงได้จัดประชุมโดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ทำความเข้าใจร่วมกันในด้านกฎหมายร่วมกัน เพื่อที่จะปฏิบัติแนวทางเดียวกัน และเพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากใบเหลืองของ IUU ไปได้” นายมงคลกล่าว

 

ล่าสุดตัวแทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมจะเสนอให้อธิบดีประชุมด่วนในวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายนนี้เพื่อออกประกาศฉบับใหม่ในการจ่ายเป็นเงินสดให้กับลูกเรือประมงเพิ่มเติมได้ด้วย นอกเหนือจากการจ่ายผ่านบัญชีธนาคาร เพราะปัจจุบันท่าเทียบเรือที่ถูกต้องตามกฎหมาย 273 ท่าทั่วประเทศไม่มีตู้ ATM และลูกเรือประมงบางส่วนไม่สามารถเปิดบัญชีผ่านธนาคารได้ หากไม่แก้ประกาศเรือประมงจะนำเรือออกทำการประมงไม่ได้

 

 

บังคับซื้อ VMS

 

ปัญหาข้อที่สอง ชาวประมงจะเดือดร้อนหากต้องซื้อเครื่องมือสื่อสารบอกพิกัดตำแหน่งเรือหรือ VMS เนื่องจากมีปัญหาติด ๆ ดับ ๆ บ่อย ทำให้ต้องนำเรือประมงเข้าฝั่งโดยเร็ว มิเช่นนั้นจะมีความผิด ซึ่งชาวประมงไม่ต้องการซื้อเครื่อง VMS เจเนอเรชั่นที่ 2 ที่มีราคาค่อนข้างสูงตกเครื่องละ 40,000 กว่าบาทขึ้นไป เนื่องจากชาวประมงจำนวนมากเพิ่งซื้อ VMS ราคาเครื่องละ 20,000 กว่าบาทมาได้ปีเศษเท่านั้น

 

ในประเด็นนี้ตัวแทนกรมประมงชี้แจงว่า ปัญหา VMS ติด ๆ ดับ ๆ บ่อยเริ่มดีขึ้นแล้ว ปกติเครื่อง VMS จะมีอายุการใช้งาน 4 ปี หากชาวประมงไม่ต้องการซื้อเครื่องใหม่ราคาแพง ก็สามารถนำเครื่องเดิมไปอัพเกรดให้ดีขึ้นแทนได้ ในขณะที่หากมีปัญหาจากเครื่องอีก ก็ให้แจ้งทางวิทยุได้

 

ปัญหาที่สามคือ การลง logbook หรือสมุดบันทึกการจับปลาของเรือประมง พร้อมระบุพิกัดที่จับได้ ซึ่งชาวประมงหวั่นว่า หากคำนวณน้ำหนักปลาผิดพลาดคลาดเคลื่อนเกิน 10% จะมีความผิดนั้น ตัวแทนจากกรมประมงชี้แจงว่า “เป็นการเข้าใจผิด” ในเรื่องนี้ขอให้ชาวประมงลงบันทึกให้ละเอียดและสอดคล้องกับพิกัดตำแหน่งที่จับปลาก็พอ ซึ่งกรมจะเปิดสอนการตรวจสอบ การลงบันทึก logbook ให้เข้าใจกันให้มากขึ้น เพราะการลง logbook กรมประมงต้องการนำมาเป็นข้อมูลใช้ในการออกใบอนุญาตทำการประมงให้ใหม่ด้วย

 

ในเรื่องการชั่งน้ำหนักปลาที่ขึ้นรถยนต์ไปขายให้พ่อค้าที่ตลาดหรือโรงงานนั้น ต่อไปให้โรงงานหรือพ่อค้าที่รับซื้อปลาต้องแจ้งน้ำหนักและชนิดปลาที่รับซื้อมาให้ท่าเทียบเรือประมงที่ขึ้นปลาตามระบบตรวจสอบย้อนกลับว่า ตัวเลขตรงกันหรือไม่

 

เพราะที่ท่าเทียบเรือจะมีการสุ่มน้ำหนักปลาแต่ละถังหรือลังว่ามีน้ำหนักเท่าใด ก่อนขนส่งขึ้นรถบรรทุกไปจำหน่ายให้พ่อค้าที่ตลาดโรงงาน ทั้งนี้เป็นระบบใหม่ที่ไม่ต้องชั่งน้ำหนักปลาทุกถังหรือลังที่ท่าเทียบเรือเพื่อลดขั้นตอน

 

กักเรือตามประกาศ คสช.

 

ปัญหาข้อสี่คือ ประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่กำหนดไว้ว่า เรือใดเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยการค้ามนุษย์ จะมีการกักเรือไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ซึ่งเป็นโทษรุนแรงเกินไป อยากจะให้มีการแก้ไขโทษให้ลดลงกว่านี้ เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด ต้องสันนิษฐานว่าผู้ถูกกล่าวหาบริสุทธิ์ก่อน การออกประกาศควรมีเวลาให้ชาวประมงปรับตัวรับมือด้วย

 

ปัญหาข้อที่ห้าคือ อยากให้ภาครัฐใช้ดุลพินิจในการลงโทษตามกฎหมายให้มากขึ้น เพราะการกระทำผิดหลายครั้งไม่ได้เจตนา เช่น ลูกเรือประมงเมาหลับในเรือแล้วมีความผิด เพราะต้องมีการแจ้งล่วงหน้าในการนำเรือออกหรือเข้า หากถึงเวลาเรือออก เจ้าของเรือดำเนินการไม่ทันเวลาที่กำหนด แรงงานไม่ครบจำนวนตามที่แจ้งไว้ ควรใช้ดุลพินิจก่อนลงโทษว่า เจ้าของเรือมีเจตนากระทำผิดหรือไม่ หรือเวลาเรือเข้า หากมีลูกเรือบางคนหายไปก่อนเจ้าหน้าที่ศูนย์ PIPO ตรวจนับจำนวนก็มีความผิด ทั้งที่ไม่มีเจตนา หรือการที่กำหนดให้เรือต้องกลับเข้าท่าภายใน 30 วัน บางครั้งเรืออาจเข้ามาคลาดเคลื่อนเป็นชั่วโมง ไม่มีเจตนาทำผิดควรงดเว้นลงโทษปรับรุนแรง

 

และปัญหาข้อที่หกคือ วันทำการประมงของเรือประมงส่วนใหญ่ขณะนี้ใกล้หมดแล้ว ซึ่งเป็นห่วงว่า ช่วง 2-3 เดือนที่เหลือนี้ที่เป็นช่วงไฮซีซั่น มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามามาก อาจทำให้ปลาขาดแคลน ราคาขึ้นสูงมาก อยากให้กรมประมงนำไปพิจารณาแก้ไขรับมือ เพราะกว่าจะได้วันทำการประมงปี 2561-2562 ต้องไปรอปลายเดือนมีนาคม-เมษายนปีหน้า

 

โดยสรุปแล้ว ปัญหาที่ต้องแก้เร่งด่วนในขณะนี้คือ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานต้องรีบหาทางออกแก้ประกาศใหม่ มิเช่นนั้นจะเกิดผลกระทบใหญ่ เรือประมงกลัวความผิดไม่กล้าออกทำการประมง ซึ่งขณะนี้สมาคมประมงจังหวัดขนาดใหญ่เริ่มเคลื่อนไหวให้รัฐแก้ไขในเรื่องนี้แล้ว

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์