หยุดประมงทำลายล้าง ฟื้นฟูปลาทูไทย....

 

 

บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ไขข้อข้องใจที่มาที่ไปป้ายโฆษณารณรงค์หยุดกินลูกปลาทูว่า หลังพบว่ามีการทำประมงแบบทำลายล้างได้สร้างผลเสียต่อการหาปลาทูอย่างหนัก โดยเฉพาะการทำประมง 2 แบบ คือ 1.การทำประมงแบบใช้แสงไฟ หรือเรือปั่นไฟ และ 2.การทำประมงแบบอวนลาก ซึ่งถือเป็นตัวทำลายลูกปลาทูอย่างมาก ในปัจจุบันยังเป็นปัญหาที่แก้ไขยังไม่ได้

 

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ปลาทูลดลงตั้งแต่ปี 2539 เรื่อยมาจนปัจจุบัน ภาวะปัญหาปลาทูลดน้อยทำให้ไทยต้องนำเข้าปลาทูจากต่างประเทศมาบริโภคกัน ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากศรีลังกาและอินเดีย ซึ่งจะเป็นปลาทูแบบแพ็กตัวใหญ่วางขายตามห้างและหัวเมืองใหญ่ ส่วนปลาทูท้องถิ่นถือว่ามีจำนวนลดน้อยลงอย่างน่ากลัว

 

แต่ในประมงชายฝั่งยังพอหาปลาทูเหมือนเดิมได้ แต่มีบริโภคเฉพาะได้ในท้องถิ่นตามจังหวัดชายฝั่งทะเลเท่านั้น ไม่สามารถส่งขายไปตามพื้นที่อื่นได้ อย่าง จ.ขอนแก่น และเชียงใหม่ ฯลฯ เพราะปลาทูถูกส่งไปไม่ถึง เนื่องจากท้องถิ่นมีความต้องการปลาทู ปลาทูถูกขายหมดในพื้นที่

 

“สถานการณ์ที่ดีขึ้นทำให้ประมงชายฝั่งพอหาปลาได้ดีขึ้นบ้าง แต่พวกราคาอาหารซีฟู้ดยังแพงเกือบทุกชนิด ถ้าไม่แก้ไขเราคงได้กินของแพงขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้รู้สาเหตุแล้วว่าเกิดจากอะไร เป็นหน้าที่รัฐบาลที่ต้องแก้ไข”

 

นอกจากนี้ สมาคมรักษ์ทะเลไทยได้สะท้อนปัญหาไปถึงรัฐบาลว่าต้องให้เครดิตรัฐบาลใช้มาตรา 44 ที่ห้ามใช้เครื่องมือทำประมงแบบทำลายล้าง เช่น โพงพาง อวนรุน ฯลฯ ถือว่าดีมาก แต่ในระดับประเทศที่เรากำลังเผชิญปัญหาทำประมงอยู่ในขณะนี้คือประมงแบบอวนลากและประมงแบบเรือปั่นไฟ

 

ขอเรียกร้องให้หยุดการใช้อวนลากคู่ที่ ต้องใช้เรือ 2 ลำ ให้เหลือเรือเพียง 1 ลำ แล้วออกไปนอกชายฝั่ง 12 ไมล์ ถ้าเราแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ยังมีมาตรการ IUU หรือ Illegal Unreported and Unregulated Fishing ซึ่งหมายถึงการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การประมงที่ขาดการรายงาน และการประมงที่ขาดการควบคุม ไทยยังได้ใบเหลืองอยู่ถ้าได้ใบแดงเมื่อใดจะเกิดปัญหาขึ้นมาได้

 

บรรจงฉายความสำเร็จระยะแรกว่าหลังรณรงค์หยุดกินหยุดซื้อลูกปลาทูมา ยังพบว่าการซื้อขายกินลูกปลาทูบางจุดเริ่มหายไปบ้าง ผลตอบรับที่ได้กลับมาถือว่าดีขึ้น ประชาชนไม่ค่อยบริโภคหรือซื้อกินลูกปลาทู ส่วนผู้ค้าเริ่มตระหนักถึงความสำคัญไม่นำมาขายอย่างโจ่งแจ้งเหมือนก่อน

 

สำหรับทิศทางในอนาคตต้องรีบจัดตั้งกลุ่มประมงเครือข่าย ปัจจุบันมี 25 สมาคมชายประมงพื้นบ้านทั่วประเทศ โดยรณรงค์ร่วมกัน ต้องเริ่มปลุกให้ชุมชนขึ้นมาก่อน เริ่มทำบ้านปลา ธนาคารปู ปลูกป่าชายเลน และขยับต่อไปคือให้ พ.ร.ก.ประมง ที่แก้ไขใหม่มีคณะกรรมการประมงจังหวัดสามารถเข้ามากำหนดทิศทางร่วมกัน ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่กรมประมงเพียงหน่วยเดียว

 

 

มงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม ยอมรับว่าสัตว์น้ำอย่างปลาทูน้อยลงจริง ซึ่งมาจาก 4 สาเหตุประกอบกัน 1.มีการอนุญาตให้ใช้เครื่องมือจับปลาในฤดูวางไข่ โดยใช้อวนจม 2 แบบ คือ ทั้งพาณิชย์และพื้นบ้าน ประมงแบบพาณิชย์จะส่งผลเยอะ ส่วนประมงพื้นบ้านลักษณะเหมือนกองทัพมด กล่าวคือทั้งหมดทำให้มีการจับพ่อแม่พันธุ์ปลาที่จะวางไข่ไป

 

ถัดมา 2.เรือปล่อยน้ำเสียลงทะเลเกิดแพลงก์ตอนบลูมทำสัตว์น้ำตาย 3.เรือประมงทั่วไปลักลอบจับปลาทูผิดกฎหมาย และ 4.ปัญหาโลกร้อนส่วนหนึ่งทำให้สถานการณ์ปลาทูลดลง

 

มงคล บอกด้วยว่า สำหรับปลาทูจะวางไข่ริมชายฝั่งทั้งหมด ประเด็นคือว่าอย่าให้มีเรือประมงเข้ามาจับพ่อแม่พันธุ์ก่อนวางไข่ นั่นถือว่าสำคัญที่สุด ต้องมีการห้ามทุกเครื่องมือทำประมงจับปลาทูในช่วงฤดูวางไข่ ทั้งนี้ หลังจากแก้ไขปัญหาไอยูยู มาแล้วสถานการณ์หาปลาทูดีขึ้นจากเดิมที่เกือบหายไป ตอนนี้ปลาทูเริ่มกลับมาแล้วบ้าง เพราะมีมาตรการห้ามใช้เครื่องมือทำประมงบางชนิด

 

"เชื่อว่าในอีก 5 ปี สถานการณ์ปลาทูจะฟื้นฟูกลับมาชุกชุมสมบูรณ์อีกเหมือนเดิม ส่วนปลาที่เรากินอยู่ทุกวันนี้เป็นปลาทูที่จับกันในพื้นที่อื่นๆ สลับกันไป มีทั้งปลาทูนำเข้าจากเมียนมา มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย ฯลฯ ปนกันไป ที่เราบริโภคปลาทูกันส่วนใหญ่มาจากประมงอวนลากมีราคาไม่สูง ราคากิโลกรัมละ 40 บาท แต่ที่ดีมีคุณภาพต้องเป็นปลาอวนล้อม ราคากิโลกรัมละ 150-200 บาท"

 

อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า ไทยสั่งนำปลาทูเข้ามานานแล้ว เพียงแต่ช่วงนี้มีปริมาณมากเท่านั้น เพราะมีความต้องการปลาทูจำนวนมาก สวนทางกับผลผลิตในไทยที่มีจำนวนน้อยจึงจำเป็นต้องมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ช่วยทำให้ราคาปลาทูในไทยมีราคาไม่แพงมาก ถ้าไม่อย่างนั้นปัจจุบันปลาทูในไทยคงขยับราคาไปถึงกิโลกรัมละ 200-300 บาท

 

ที่มา โพสต์ทูเดย์ออนไลน์