อรมน ทรัพย์ทวีธรรม ไทยสานสัมพันธ์อียู-สหรัฐ-RCEP

 

 

 

Q : ทิศทางหลังฟื้นสัมพันธ์อียู

 

การเจรจาอย่างเป็นทางการชัดเจนทางอียูขอพิจารณาความเป็นไปได้หลังการเลือกตั้งของไทย แต่การที่อียูส่งสัญญาณว่าให้ความสำคัญด้านนี้ ไทยจึงต้องเตรียมความพร้อม ซึ่งอาจจะดูทั้งภาพรวมในส่วนของเอฟทีเอไทย-อียู ที่เจรจากันค้างไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์ทางการเมือง อียูลดความสำคัญระดับนโยบายลงจึงทำให้ที่ผ่านมาไม่ได้พบปะกันในระดับนโยบายกับรายสมาชิก และการเจรจาเอฟทีเอก็หยุดไป แต่ยังมีการหารือระดับเจ้าหน้าที่บ้าง ซึ่งพอมีสัญญาณมาแบบนี้ เรามองต่อไปว่าสามารถทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปได้ และคุยในรายประเทศก็ได้

 

ซึ่งนโยบายของท่านรองนายกรัฐมนตรี (ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ให้ไปดูความเป็นไปได้ในการเจรจารายประเทศ เพราะมีความน่าสนใจ เราไม่จำเป็นต้องรอเจรจาเอฟทีเอเริ่ม เพราะกว่าจะเจรจาเสร็จต้องใช้เวลานาน ไทยสามารถเจรจารายประเทศได้หรือไม่

 

Q : เลือกเจรจา Strategic Parthnership รายประเทศอย่างไร

 

อาจไม่ทั้ง 27 ประเทศ อาจเลือกเฉพาะที่สามารถคุยแบบ strategic parthnership ได้ ซึ่งที่ผ่านมามีฝรั่งเศสมีการเจรจาระดับอธิบดี หรือ High Level Dialog และเคยมีโอกาสหารือระดับรองนายกรัฐมนตรีแล้ว เพราะมีคณะนำนักธุรกิจมา

 

ฝรั่งเศสมีการลงทุนในไทยจำนวนมาก เช่น มิชลินมีโรงงานที่ไทยนำยางพาราไปแปรรูปได้ หรือฝรั่งเศสมีความชำนาญด้านนวัตกรรมเครื่องสำอาง ไทยมีสมุนไพร หากต่อยอดนวัตกรรมมาจับมือร่วมกันสร้างแบรนด์ก็ไปได้ไกล

 

นอกจากนี้ก็มีอังกฤษ เท่าที่กรมได้พบและหารือกับภาคเอกชน เห็นว่าเอกชนได้ให้ความสำคัญ รัฐก็มองว่าสำคัญ เพราะที่ผ่านมาไทยมีการค้าในอังกฤษจำนวนมาก และยังมีการลงทุนด้วย หากมีโอกาสจะต้องเข้าไป เพราะอังกฤษอยู่ระหว่างดำเนินการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) จำเป็นต้องคุยกันไว้ก่อน

 

Q : รูปแบบการเจรจา Strategic Parthnership ต่างจาก FTA

 

ถ้าเจรจาจัดทำความตกลงเขตค้าเสรี หรือเอฟทีเอ จะลำบาก เพราะถ้ารวมตัวกันเป็น union อย่างสหภาพยุโรปจะยึดหลักการเดียว การเจรจาลดภาษีต้องทำพร้อมกันทั้งหมด แต่หากเป็นการเจรจาแบบ strategic parthnership สามารถจับมือขยายการค้า-ลงทุน ร่วมทุน หรือดึงนักลงทุนเข้ามาใน EEC ได้ หรือดึงนักธุรกิจที่มีศักยภาพมีความเชี่ยวชาญเข้ามาร่วมมือกันได้เลย ตอนนี้ไทยไม่ได้รอนักลงทุนต่างชาติด้านเดียวแล้ว แต่ไทยไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้นด้วย

 

Q : Strategic Parthnership รายประเทศดีอย่างไร

 

การเจรจารายประเทศสามารถเริ่มได้เลย และเจรจาไปได้เร็วกว่าเอฟทีเอ แต่แค่ขึ้นอยู่กับประเทศนั้นรับสัญญาณว่าจะมีการเจรจาหรือไม่

 

Q : การเจรจาแบบนี้ต้องผ่านรัฐสภา

 

ตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เฉพาะการทำสัญญา หรือความตกลง แต่เจรจาแบบนี้เป็นการทำงานตามสัญญาปกติ อาจไม่ต้องถึงขั้นนั้น แต่หากไทยดำเนินการหรือทำกรอบอะไรที่สำคัญสักอย่างจึงต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี แต่ในชั้นนี้อาจคุยระดับเจ้าหน้าที่ก่อนในความเป็นไปได้ ดูสัญญาณทั้งเขาและเราว่าสนใจอะไรแล้วอาจจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ

 

หากต้องสานต่อความสัมพันธ์หรือดำเนินการอะไรที่เป็นลายลักษณ์อักษร จำเป็นต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่บางอย่างสามารถสานความสัมพันธ์ เช่น ขอให้หอการค้าหรือเอกชนเจอกันบ่อยขึ้น ก็คุยกัน ไม่ต้องขอ ครม.ก็ได้

 

การเจรจาลักษณะนี้จะต่างจากการทำมิสชั่นของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะไปจับระดับเอกชนหรือระดับเจ้าหน้าที่ แต่การคุยอาจจะเป็นการเจอในระดับอธิบดีหรือระดับนโยบายพบกัน ซึ่งจะมีน้ำหนักมากกว่า

 

Q : แผนการเจรจาปี 2561

 

กำลังจัดทำแผนเจรจาการค้าระหว่างประเทศสำหรับ ปี 2561 หลังจากที่รับลูกมาก็คงไล่ดูรายประเทศที่คิดว่าจะขยายความสัมพันธ์ได้ โดยพิจารณาจากตัวเลขการค้าระหว่างกัน หรือมีอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพคืออะไรที่สนใจ

 

ปีหน้าเราจะให้น้ำหนัก คือ เรื่องการเจรจาที่มีค้างอยู่ มีกรอบเวลาที่ต้องเจรจาให้เสร็จ เช่น เอฟทีเอไทย-ปากีสถาน เอฟทีเอไทย-ตุรกี และกรอบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาค (RCEP) ต้องมีผลสำเร็จที่ชัดเจนในปี 2561

 

ส่วนประเทศใหม่ เน้นประเทศที่ระดับนโยบายเคยเดินทางไปเยือน หรือประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก และแนวโน้มว่าจะเป็นเกตเวย์ (gateway) ที่น่าสนใจ เช่น ในเอเชียใต้กำลังศึกษาบังกลาเทศ ซึ่งมีประชากร 200 ล้านคน ศรีลังกาซึ่งสามารถเข้าไปลงทุนได้ ตอนนี้กำลังศึกษาใกล้จะเสร็จ

 

นอกจากนี้ยังมีกรอบสหภาพยูเรเซีย ซึ่งต้องขยายการศึกษาให้ครบ5 ประเทศ คือ รัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส คีร์กีซสถาน อาร์เมเนีย โดยมีกำหนดว่าฝ่ายเลขาธิการยูเรเซีย จะมาเยือนไทยในช่วงต้นปี 2561 เพื่อลงนามศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการลงทุน (feasibility study) ซึ่งจะเป็นสัญญาณที่ดีน่าจะเริ่มเจรจาได้

 

Q : ความล่าช้าของ RCEP อีก 1 ปีจะมีผลต่อไทยอย่างไร

 

เราอาจมองว่าตอนนี้ RCEP ช้าไป แต่การเจรจา RCEP ไม่ได้ง่ายด้วยความที่มีสมาชิกมาก 16 ประเทศ ท่าทีต่างกัน RCEP มีสมาชิกทั้งที่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งต้องการความตกลงที่มีมาตรฐานสูง ทั้งด้านทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดตลาดการค้า บริการ และมีสมาชิกที่เป็นอาเซียน 10 ประเทศซึ่งมีความระดับมาตรฐานด้าน ทั้งทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันการค้า จัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ที่แตกต่างกัน หรืออาจยังไม่ถึงมาตรฐาน หรือประเด็นความต้องการที่ต่างกันของสมาชิกแต่ละประเทศ เช่น อินเดียต้องการเปิดตลาดบริการ

 

อย่างไรก็ตาม RCEP ถือตลาดใหญ่มีมูลค่าการค้าคิดเป็น 1 ใน 3 หรือประมาณ 30% มูลค่าการค้าโลก หากลงนามได้ อุปสรรคทางการค้าหรือด้านภาษีลดลง จะทำให้เศรษฐกิจ 1 ใน 3 ของโลกขับเคลื่อนไปได้ดี

 

Q : ความสัมพันธ์อียูและสหรัฐดีขึ้น แล้ว RCEP จะเป็นอย่างไร

 

ถึงแม้ว่าอียูหรือสหรัฐจะมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น แต่การเจรจา RCEP ยังสำคัญ เพราะว่ากรอบนี้สมาชิกอาเซียน และอีก 6 ประเทศ (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดต่อกัน ในบางประเทศมีความตกลงเอฟทีเอกับไทยอยู่แล้ว ทางกรมพร้อมจะสานต่อการเจรจากับทุกกรอบทั้งอียู สหรัฐ RCEP เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

 

 

ปมร้อน “อาเซียน-จีน”

 

ความตกลงเอฟทีเออาเซียน-จีน ในประเด็นการเปิดตลาดสินค้า ยังมีกลุ่มอ่อนไหวกลุ่มสุดท้ายเหลือ 400 รายการที่จะลดภาษี 0-5% ใน 1 ม.ค. 2561 จากจำนวนสินค้าที่ค้าขายกันทั้งหมด 9,000 รายการ

 

นางอรมนกล่าวว่า ประเด็นนี้ต้องแยกจากประเด็นการลดภาษี “รถยนต์ไฟฟ้า” เพราะสินค้านี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มรถยนต์อื่น ๆ ซึ่งได้ลดภาษีเป็น 0% มาตั้งแต่ปี 2553 แล้ว และที่ผ่านมามีการนำเข้ามาเพียง 188 คัน ส่วนใหญ่เป็นรถกอล์ฟ มีรถยนต์นั่งไฟฟ้า 7 คัน มูลค่า 8 ล้านบาท

 

กรมฯ ได้หารือกับนักลงทุนที่ตัดสินใจลงทุนผลิตรถไฟฟ้าในไทย ถึงปัจจัยสำคัญที่พิจารณาลงทุน ทางผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชี้ว่าปัจจัยหลักคือ “ตลาด” และ “มาตรการส่งเสริมการลงทุน” ของภาครัฐจะเป็นแรงจูงใจเป็นพิเศษ

 

ทั้งนี้ หากรัฐบาลส่งเสริมให้เกิดการลงทุนสร้างสถานีชาร์จจะเป็นแรงจูงใจหนึ่งทำให้ประชาชนสนใจใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น เมื่อมีดีมานต์จะทำให้นักลงทุนสนใจลงทุนมากขึ้น ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า “ภาษี” ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด มีหลายปัจจัยแต่สำคัญที่ “ดีมานด์” มีหรือไม่

 

ส่วนการทบทวนให้ย้อนกลับไป “ขึ้นภาษีนำเข้า” จะต้องหารือกับสมาชิกในกรอบ “เอฟทีเออาเซียน-จีน” และหากมีการปรับขึ้นภาษีอาจต้องชดเชยความเสียหายให้กับสมาชิก

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์