เปิดประมงเออีซี เวียดนามน่าลอง

 

 

          กลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน นอกจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น ยังสร้างแรงดึงดูดมหาศาลให้ถนนสายการลงทุนหลายสายพุ่งตรงไปยัง CLMV

 

          ซีแอลเอ็มวี (CLMV) คือชื่อย่อของ 4 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา (Cambodia) ลาว (Laos) เมียนมาร์ (Myanmar) และ เวียดนาม (Vietnam)

 

          ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศดังกล่าวมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 6.5% ต่อปี ทั้ง 4 ประเทศ ไม่เพียงมีสภาพภูมิอากาศ สังคม วัฒนธรรมที่คล้ายคลึง ยังมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล เป็นแหล่งการจ้างงานที่มีค่าจ้างยังไม่สูงนัก ที่สำคัญกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี เริ่มเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในประเทศของตนมากขึ้น

 

          มาลินี สมิทธิ์ฤทธี ผู้อำนวยการกองประมงต่างประเทศ กับ ลักขณา บุญส่งศรีสกุล นักวิชาการประมงชำนาญการ ของกรมประมง บอกว่า ในแง่ทรัพยากรทางการประมง โอกาสหรือลู่ทางของนักลงทุนไทย กับกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี เวลานี้อย่างน้อยมี 2 ประเทศที่น่าสนใจมาก คือ เวียดนาม กับ เมียนมาร์ ทั้งคู่ร่วมกันให้ข้อมูลว่า ปี 2553 เฉพาะเวียดนามประเทศเดียว มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 6.78 สินค้าส่งออกที่สำคัญของเวียดนามมีทั้งสิ่งทอ เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล น้ำมันดิบ ข้าว รองเท้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ โดยมีญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ

 

          เมื่อปี 2554 เวียดนามมีผลผลิต จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ถึง 3.052 ล้านตัน มากเป็นอันดับสองของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย แบ่งเป็นการเพาะเลี้ยงในน้ำจืด 2.074 ล้านตัน (ส่วนใหญ่เป็นปลาสวาย) น้ำกร่อย 0.584 ล้านตัน (มีทั้งกุ้งกุลาดำและกุ้งขาว) และเพาะเลี้ยงในทะเลอีก 0.394 ล้านตัน (สาหร่ายทะเล หอยทะเล ปลาช่อนทะเล กับกุ้งล็อบสเตอร์)

 

          เวียดนามมีแหล่งทำประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ คิดเป็นพื้นที่รวมมากกว่า 1 ล้านตารางกิโลเมตร การประมงในทะเลของเวียดนาม นิยมทำ 4 แบบ คือ ประมงชายฝั่ง ประมงใกล้ฝั่ง ประมงไกลฝั่ง และประมงน้ำลึก ผอ.มาลินีบอกว่า ประมงชายฝั่งเป็นการจับสัตว์น้ำแบบโบราณ ตามชายหาดและป่าโกงกาง จะเรียกว่าเป็นการทำประมงแบบยังชีพ ก็ได้

 

          ประมงใกล้ฝั่ง ใช้เครื่องมือจำพวกอวนลอย เบ็ดราว อวนรุน อวนยก และลอบ มีรัศมีทำประมงห่างจากชายฝั่งออกไปไม่เกิน 4-5 ไมล์ทะเล มีเรือประมงประเภทนี้อยู่ทั้งสิ้นประมาณ 73,000 ลำ

 

          ส่วนประมงไกลฝั่ง ทำห่างจากฝั่งในรัศมีตั้งแต่ 5 ไมล์ทะเลขึ้นไป ชาวประมงจะใช้อวนลากขนาดเล็ก อวนล้อมจับ และลอบแบบต่างๆ มีเรือที่ทำการประมงบริเวณนี้ราว 20,000 ลำ

 

          “ลู่ทางลงทุนที่น่าสนใจสำหรับเอกชนไทยจะเข้าไปร่วมลงทุนด้วย ก็คือ การทำประมงแบบน้ำลึก ซึ่งจะทำประมงในระดับน้ำทะเลที่ลึกตั้งแต่ 35–80 เมตรขึ้นไป โดยใช้อวนลากกับอวนล้อมเป็นหลัก ปัจจุบันเวียดนามมีเรือที่ทำประมงแบบนี้ยังไม่มาก แค่ประมาณ 100 ลำ”

 

          ส่วนเงื่อนไขการร่วมทุนหลักๆ ผอ.กองประมงต่างประเทศบอกว่า เวียดนามกำหนดให้สามารถลงทุนโดยการจดทะเบียนร้อยละ 100 จึงจะได้รับใบอนุญาตให้ทำประมงในน่านน้ำเวียดนาม โดยต้องเช่าเรือประมงของเวียดนามและจ้างแรงงานชาวเวียดนาม ส่วนสัตว์น้ำที่จับได้ให้ใช้เป็นวัตถุดิบของโรงงานผลิตอาหารทะเลแปรรูปของบริษัทที่ตั้งอยู่ในเวียดนาม

 

          ลักขณาเสริมในประเด็นนี้ว่า “จุดเด่นของเวียดนามอยู่ที่กฎหมายการลงทุนมีความชัดเจนและเอื้อประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติมาก เช่น รัฐบาลเวียดนามไม่เก็บภาษีเครื่องจักรอุปกรณ์ และวัสดุก่อสร้าง ที่นำเข้าไปเพื่อผลิตสินค้าส่งออก และยืนยันที่จะไม่ยึดกิจการเป็นของรัฐในทุกกรณี รวมทั้งอนุญาตให้ส่งเงินทุนและกำไรกลับประเทศได้”

 

          ยกตัวอย่าง กฎหมายการลงทุนของเวียดนามเปิดโอกาสให้สามารถจัดตั้ง องค์กรธุรกิจ (Economic Organizations) ในรูปแบบที่นักลงทุนเวียดนามเป็นเจ้าของทุนทั้งหมด 100% หรือจะให้นักลงทุนต่างชาติเป็นเจ้าของทุนทั้งหมด 100% หรือสามารถจัดตั้งในรูปแบบของ องค์กรธุรกิจร่วมทุน (Joint Venture economic organizations) ระหว่างนักลงทุนเวียดนามกับนักลงทุนต่างชาติก็ได้

 

          ระยะเวลาที่ได้รับสิทธิในการเช่าที่ดิน ขึ้นกับใบอนุญาตการลงทุน โดยปกตินักลงทุนต่างชาติจะได้รับสิทธิในการเช่าที่ดินในเวียดนามประมาณ 50 ปี โดยอาจขยายเป็น 70 ปี หากเป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานชื่อ The Standing Committee of the National Assembly

 

          นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติสามารถนำสิทธิการใช้ที่ดินมาเป็นหลักประกันการกู้เงินได้ โดยอนุญาตให้สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่าง–ประเทศในเวียดนาม สามารถรับจำนองสิทธิการใช้ที่ดินได้

 

          อย่างไรก็ตาม การเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ผู้ประกอบการควรต้องศึกษากฎระเบียบอย่างใกล้ชิด เพราะกฎระเบียบด้านการค้าของเวียดนามบางอย่างมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย อาจสร้างความสับสนให้แก่ผู้ประกอบการได้

 

          สำหรับผู้ประกอบการประมงไทยที่คิดจะเข้าไปลงทุนทำธุรกิจประมงในเวียดนาม ทั้งมาลินีและลักขณาให้คำแนะนำในเบื้องต้นว่า เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศสมาชิกอาเซียน ที่จะเข้ามาในประเทศไทยมีอัตราภาษีเป็นศูนย์แล้ว ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการสามารถนำเข้าวัตถุดิบได้ในราคาถูกลง สินค้าที่นำเข้าควรต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ไม่มีสารตกค้างปนเปื้อน ก่อนนำมาแปรรูปหรือผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพส่งออกหรือใช้บริโภคในประเทศ

 

          ผลจากความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน ซึ่งจะมีการเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนมากขึ้น จะทำให้การไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนในสาขาประมงมีความสะดวกยิ่งขึ้น จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการควรหาลู่ทางเข้าไปลงทุน โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รวมทั้งติดตามเอกสารเผยแพร่จากกรมประมง

 

          สินค้าประมงของไทยหลายชนิดยังมีต้นทุนที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มและการเพิ่มประสิทธิภาพอุตสาหกรรมแปรรูปที่คนไทยถนัด ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทยควรคำนึงถึงการลดต้นทุนการผลิตระดับฟาร์ม เช่น ใช้วัตถุเหลือใช้ในฟาร์มให้เกิดประโยชน์สูงสุดและนำเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตมาใช้

 

          “ถ้าเกษตรกรของเราสามารถปรับปรุงมาตรฐานการผลิตระดับฟาร์มให้สอดคล้องกับมาตรฐานระดับชาติที่มีอยู่แล้ว เช่น GAP, CoC หรือ มกษ. และได้รับการรับรองมาตรฐานจากการตรวจประเมินของกรมประมง จะเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้นำเข้า และโรงงานแปรรูปวัตถุดิบอย่างมาก” ผอ.มาลินีทิ้งท้าย

 

แหล่งที่มา http://www.thairath.co.th/content/497318