ปัญหาประมงไทยที่ควรรู้

 

 

     สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยเดินทางเข้ามายื่นหนังสือเรียกร้องให้ ซีพี หยุดรับซื้อปลาป่น เป็นแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุของอุตสาหกรรมประมงไทย เพราะต้นเหตุคือ การทำประมงของเรือพาณิชย์ ด้วยเครื่องมือจับปลาที่ผิดกฎหมาย ทั้งอวนลาก อวนรุน อวนล้อมปั่นไฟ ทำลายระบบนิเวศความอุดมสมบูรณ์ของทะเล เนื่องจากความไม่เข้มงวดและเคร่งครัดในการบังคับใช้กฎหมายประมงไทย

 

     จนกระทั่งปัญหาถูกยกขึ้นมาเป็นระดับชาติ หนทางแก้ไขที่ต้องร่วมแรงร่วมใจกันทุกภาคส่วน เริ่มจากภาครัฐที่มีการแก้ไขกฎหมายประมงไทยให้เทียบเคียงกับมาตรฐานสากล การต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การรายงานและการควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU เพื่อแก้ปัญหาที่คณะกรรมาธิการยุโรป หรือ EU วางกรอบจำกัดเวลาในการแก้ปัญหาไว้ 6 เดือน ไม่เช่นนั้นก็จะมีผลกระทบกับสินค้าประมงไทยทั้งหมด

 

     รัฐบาลไทยโดยกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหอกในการออกมาตรการเร่งด่วน โดยการตั้งทีมเฉพาะกิจควบคุมเรือประมงที่ออกจากท่าในพื้นที่ 22 จังหวัด และออก 6 มาตรการ ในการจัดการปัญหาประมงไทย ได้แก่ การเร่งขึ้นทะเบียนเรือประมง และออกใบอนุญาตการทำประมง การควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ การปรับปรุง พ.ร.บ.การประมง กฎหมายลำดับรอง และ จัดทำแผนระดับชาติในการป้องกันสินค้าที่ทำผิดกฎหมายประมง

 

     นอกจากนี้รัฐบาลได้ออกประกาศในแผนแม่บทการดำเนินงานแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมง คือ นิรโทษกรรมเรือประมงอวน ลากเถื่อน ด้วยการให้อาชญาบัตรเรือประมงที่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมายเปลี่ยนสภาพเป็นเรือประมงที่ถูกกฎหมายทันที 3,199 ลำ เป็นที่มาของการคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์และกลุ่มประมงขนาดเล็ก

 

ถือว่าเป็นการปล่อยผีอย่างไม่ถูกต้อง

 

     ส่งผลให้กลุ่มประมงพื้นบ้านออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐพิจารณามาตรการดังกล่าวให้รอบคอบและโปร่งใส ที่จะต้องทบทวนถึงมาตรการแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล ตลอดจนวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านในระยะยาวด้วย

 

     ในขณะที่ กฎหมายประมงไทย อยู่ระหว่างการแก้ไข ปลายเหตุของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจประมง โดยเฉพาะประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ ควรจะร่วมกันแก้ปัญหา และยึดหลักการทำงานร่วมกันระหว่าง ภาคประชาสังคมและภาครัฐ ถ่วงดุลความเป็นธรรมสำหรับผู้ประกอบการทั้งสองกลุ่ม

 

     ภาคเอกชน บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ ในฐานะผู้ใช้วัตถุดิบรายใหญ่ ยืนยันจะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องทุกประการ เพราะเห็นว่าการแก้ไขปัญหาประมงไม่สามารถทำได้ด้วยคนใดคนหนึ่ง แต่จะต้องจัดระบบและระเบียบ มีตัก ก็ต้องมีเติม ให้ชุมชนและสังคมสามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างยั่งยืนตลอดไป.

 

 

Credit : www.thairath.co.th