ประมงจับมือสู้ไอยูยู-เทียร์ 3 “ซีพีเอฟ-ทียูเอฟ” ร่วมหนุนรัฐ-เชื่อไทยรอดใบแดง

 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมประมงไทย 5 สมาคม ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมกุ้งไทย พร้อมด้วยผู้บริหารบริษัทระดับสูงในอุตสาหกรรมประมง ทั้งบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และบริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือทียูเอฟ ร่วมแสดงจุดยืนสนับสนุนและยืนยันปฏิบัติตามมาตรการรัฐ เพื่อแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ขาดการควบคุม (ไอยูยู) ของสหภาพยุโรป (อียู) และการจัดอันดับการค้ามนุษย์ ของสหรัฐฯ ที่ไทยอยู่ในระดับเทียร์ 3

 

     นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้แทน 5 สมาคมในการแถลงข่าว กล่าวว่า ผู้ประกอบการ 5 สมาคม ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรมประมงไทยตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการส่งออก ขอประกาศเจตนารมณ์ 4 ข้อ เพื่อให้ความร่วมมือกับรัฐบาล คือ 1.สนับสนุน และพร้อมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 อย่างเต็มที่และเคร่งครัด 2.จะไม่ซื้อวัตถุดิบอาหารทะเลจากเรือที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและเรือที่มีปัญหาเรื่องการค้าแรงงานมนุษย์

 

     3.ขอให้รัฐบาลใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับการทำประมงไอยูยู และเรือที่มีปัญหาการใช้แรงงานมนุษย์ รวมทั้งอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีความต่อเนื่อง โดยเฉพาะปลาป่น ที่ถูกต่างประเทศโจมตีมาก ทั้งหมดนี้เมื่อรวมกับการดำเนินการของรัฐบาล ที่ได้แก้ไขกฎหมายที่สำคัญ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 มีการขึ้นทะเบียนเรือ และแรงงานต่างด้าว 1.6 ล้านคนเข้าสู่ระบบ แก้ปัญหาทั้งการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ และไอยูยู เชื่อว่าจะทำให้อียู ไม่แจกใบแดงให้แก่สินค้าประมงไทย ในการตัดสินอีกครั้งเดือน ต.ค.นี้ โอกาสที่เป็นไปได้ คือ ไทยจะได้ใบเหลืองอีกครั้ง เหมือนกับประเทศอื่นๆ ก็โดนใบเหลือง 2-3 รอบกันซึ่งหากขนาดนี้แล้วไทยยังโดนใบแดง แสดงว่ามาตรฐานอียูคงสูงมาก และประเทศอื่นก็คงอยู่ไม่ได้เหมือนกัน.

 

 

Credit : www.thairath.co.th