สนช.ฉลุย-ไฟเขียว พ.ร.ก.ประมง ปลดบ่วงใบเหลืองอียูล็อกคอไทย

  

 

ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 17 ธ.ค. ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เป็นประธานในการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องด่วนพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ.2558 ที่ ครม.เสนอ โดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ ชี้แจงหลักการและเหตุผล ว่า สหภาพยุโรปหรืออียูได้ประกาศให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่อาจะไม่ให้ความร่วมมือในการป้องกันและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมายขาดรายงานและไร้การควบคุม ในวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา หรือให้ใบเหลืองไทย สาเหตุที่สำคัญคือกฎหมายว่าด้วยการประมงของไทยที่ใช้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย แม้ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะเห็นชอบในการออก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 เมื่อต้นปีก็ตาม แต่บทบัญญัติใน พ.ร.บ.การประมงดังกล่าวยังมีบทบัญญัติต่างๆ ที่ไม่เพียงพอในการที่จะป้องกันและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ได้มีความพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในชั้นกรรมาธิการก็ตาม ก็ไม่สามารถปรับปรุงได้ทั้งหมด เนื่องจากกรอบโครงสร้างของร่างกฎหมายและระยะเวลาจำกัด คณะรัฐมนตรีจึงได้ยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่ โดยนำเสนอเป็น พ.ร.ก.เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ หากประเทศไทยได้รับใบแดงก็จะทำให้การส่งสินค้าประมงไปยังสหภาพยุโรปได้รับผลกระทบและส่งผลกระทบต่อประเทศโดยรวม ซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 13 พ.ย.58 มีผลบังคับใช้แล้ว

 

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 ยังขาดมาตรการในการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมงในน่านน้ำไทยและนอกน่าน้ำไทย เพื่อป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งยังขาดการบริหารจัดการการทำประมงให้สอดคล้องกับการผลิตสูงสุดของธรรมชาติเพื่อให้สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน

 

และหากไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน อาจมีผลกระทบต่อการประมงของประเทศไทย ดังนั้นเพื่อเพิ่มมาตรการในการควบคุม เฝ้าระวัง สืบค้น และตรวจสอบการประมง อันเป็นการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และกำหนดแนวทางในการอนุรักษ์และการบริหารจัดการแหล่งทรัพยากรประมงและสัตว์น้ำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนโดยการดำเนินการดังกล่าวต้องกระทำให้แล้วเสร็จโดยรวดเร็ว เพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งออกสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของประเทศไทย ซึ่งเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศจึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.นี้โดยมีจำนวน 176 มาตรา และ พ.ร.ก.นี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 พ.ย.58 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วัดถัดจากวันประกาศในรากิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

อย่างไรก็ตาม สมาชิกแม้แสดงความเห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว แต่มีข้อท้วงติงและข้อสังเกตทั้งในเรื่องบทลงโทษ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทั้งเรื่องแรงงานต่างด้าว การค้ามนุษย์ การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดย พล.อ.ฉัตรชัย ยืนยันว่า พ.ร.ก.นี้ จะสร้างความเป็นธรรมกับ ผู้ประกอบกิจการประมงและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อกังวลได้มีการทำเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วและในวันที่ 21 ธ.ค.นี้จะมีการประชุมเจ้าของกิจการประมง ภาคเอกชน เพื่อชี้แจงรายละเอียดและทำความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.ก.นี้อีกครั้ง ส่วนเรื่องการเยียวยานั้นมีกระบวนการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการปรับปรุงเรื่องกฎหมาย ระเบียบ ส่วนผู้ที่ต้องการปรับให้ถูกต้องตามกฎหมายรัฐ และเลิกกิจการรัฐก็มีงบประมาณและมาตรการช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามข้อท้วงติงทั้งหมดตนขอรับไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป

 

จากนั้นที่ประชุม สนช.ได้ลงมติอนุมัติ พ.ร.ก.การประมงด้วยคะแนน 172 ไม่เห็นด้วย 1 งดออกเสียง 5 เสียง

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง