เรือเล็ก-ใหญ่เปิดศึกรับปิดอ่าวไทย ประมงพาณิชย์ดัน "ฉัตรชัย" ห้ามใช้อวนจมจับปลาทู

ปิดอ่าวไทยให้ปลาวางไข่กลายเป็นศึกบาดหมาง 2 ฝ่าย กลุ่มเรือประมงพาณิชย์เสนอรัฐมนตรีเกษตรฯห้ามเรือประมงพื้นบ้านใช้อวนลอย อวนจมจับปลาทูที่ใกล้สูญพันธุ์ ฝ่ายประมงพื้นบ้านดันภาคีเครือข่าย เร่งหารือภาคธุรกิจสากลหยุดซื้อสินค้าประมงจากเรืออวนลาก ล่าสุดแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายแห่ลงเรือประมงพื้นบ้านแทนเรือใหญ่

 

 

แหล่งข่าวจากกลุ่มเรือประมงพาณิชย์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงกรณีการปิดอ่าวไทยห้ามเรือประมงพาณิชย์ทำการประมงช่วงวันที่ 15 ก.พ. 2560-15 พ.ค. 2560 เพื่อให้ปลาวางไข่ว่า ทางกลุ่มเรือประมงพาณิชย์จะเสนอ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาตัดสินใจห้ามเรือประมงพื้นบ้านขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส

 

ใช้เครื่องมือประมงประเภทอวนลอยและอวนจมในการจับปลาทูช่วงฤดูวางไข่ เนื่องจากปลาทูในอ่าวไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแทบจะสูญพันธุ์ เนื่องจากมีการใช้อวนทั้ง 2 ประเภทจับปลาทูที่ว่ายเข้าฝั่งเพื่อวางไข่ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี กันจำนวนมาก เมื่อเปิดอ่าวอีกครั้งปลาทูจึงแทบไม่เหลือ 

 

"เขาใช้ตะกั่วใหญ่ขึ้นถ่วงตาข่ายอวนให้จม เมื่อพ่อแม่พันธุ์ปลาทูว่ายเลาะหน้าดินเข้าฝั่งเพื่อวางไข่ก็ติดกับดักหมด ตัวที่เหลือรอดวางไข่เสร็จจะลอยตัวออกทะเลก็ถูกกับดักอวนลอย ปลาทูที่จะมาเติบโตในอ่าวไทยตัว ก.จึงแทบไม่เหลือ ปิดอ่าวไทยตอนในรูปตัว ก.ตามมาจึงแทบไม่มีประโยชน์ ทั้งที่จริงเรื่องนี้ กรมประมงก็ห้ามใช้มาแล้ว แต่ในปี 2540 มีชาวประมงพื้นบ้านประมาณ 200-300 คนปิดถนนประท้วงที่ชุมพร กรมประมงจึงผ่อนผันให้ประมงพื้นบ้านใช้อวนลอย อวนจม แต่ทุกวันนี้ทำเกินเลยกลายเป็นเรือประมงพื้นบ้านพาณิชย์ไปแล้ว จึงกลายเป็น 2 มาตรฐาน ห้ามเรือประมงพาณิชย์จับปลาแต่เรือประมงพื้นบ้านจับได้ ควรจะห้ามทั้งหมด"

 

นอกจากนี้ ตามมาตรา 32 พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เรือประมงพื้นบ้าน 28,000 ลำ ต้องได้รับใบอนุญาตทำการประมง จากกรมประมงจึงจะออกจับปลาได้ แต่ยังไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้ ล่าสุดแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายแห่ไปทำงานกับเรือประมงพื้นบ้านแทนเรือประมง พาณิชย์ บางลำมีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายออกจับปลาลำละ 6-8 คนจำนวนมาก เพราะเรือประมงพื้นบ้านไม่ต้องแจ้งต่อศูนย์ตรวจสอบเรือเข้า-ออก (PIPO) จึงเป็นเรื่องที่ทางการจะต้องเร่งสะสางปัญหาไม่ให้เกิดเป็น 2 มาตรฐาน แหล่งข่าวกล่าว

 

ประมงพื้นบ้านลุยโต้เรือใหญ่

ขณะเดียวกัน นายสะมะเเอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเล ได้ออกมาตอบโต้กลุ่มเรือประมงพาณิชย์โดยเฉพาะเรืออวนลาก โดยเปิดเผยในงาน "บทบาทภาคธุรกิจเเละประชาสังคมในการแก้ปัญหาเเรงงานและสิ่งเเวดล้อมของ อุตสาหกรรมประมงไทย" ที่โรงแรมดุสิตธานี ว่า ปัจจุบันนี้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความไม่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมประมง ของไทยเป็นวงกว้างซึ่งได้รับผลกระทบตลอดห่วงโซ่ผลิต แรงงานและสิ่งเเวดล้อม ส่งผลให้ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ต้องปรับตัวค่อนข้างหนักโดยเฉพาะสหภาพยุโรป หรืออียูซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของไทย ยังคงใบเหลืองประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) เช่นเดียวกันไทยยังถูกสหรัฐคงเทียร์ 2 Watch list ด้านการค้ามนุษย์ แม้ว่าภาครัฐและเอกชนมีความพยายามแก้ไขวิกฤตดังกล่าวแต่แรงงานอุตสาหกรรม ประมงพื้นบ้านกลับได้รับผลกระทบหนักที่สุด ดังนั้นภายในการประชุม "Seafood Task Force" นับเป็นเวทีระดับโลกของผู้ซื้อและผู้ส่งออกรายใหญ่ ภาคีฯจึงได้เสนอให้ภาคเอกชนมีการเเก้ไขเร่งด่วน ใน 2 ข้อ อาทิ ยุติการใข้เครื่องมือเเละวิธีการทำประมงทำลายล้าง ไม่ใช้ และไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ประมงที่ได้จากการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) รวมถึงระบบตรวจสอบย้อนกลับให้บังคับใช้ระบบนี้กับซัพพลายเออร์ทุกราย

 

แหล่งที่มา prachachat