หวั่นปิดอ่าวไม่ได้ ! ผลวงการประมงชี้ต้องห้ามใช้อวนจม จำกัดคน-ขนาดเรือจับปลา

 

กรมประมงประกาศปิดอ่าวไทย ประจำปี 2560 ในเขต ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ฯ ระหว่างวันที่ 15 ก.พ.-15 พ.ค. นี้ เผยวางแผนการลาดตระเวนอย่างเข้มงวด วงการประมงชี้ได้ผลไม่เต็มที่ เหตุมีจุดโหว่ ยังไม่ห้ามใช้อวนจมจับปลาทูและห้ามเรือมากกว่า 5 ตันกรอสออกจับปลาช่วงฤดูวางไข่

 

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงเตรียมจัดพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ในฤดูปลาที่มีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน ฝั่งทะเลอ่าวไทย (ปิดอ่าว) ประจำปี 2560 (วันที่ 15 กุมภาพันธ์ - 15 พฤษภาคม 2560 รวม 3 เดือน) พื้นที่ประมาณ 26,400 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี โดยกำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิด ที่อาจส่งผลต่อการแพร่ขยายพันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์และสัตว์น้ำวัยอ่อนในท้องทะเลอ่าวไทย โดยเฉพาะ “ปลาทู” ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีคุณค่าและความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศที่จำเป็นจะต้องดูแลรักษาทรัพยากรเหล่านี้ให้มีอยู่อย่างยั่งยืน

 

 

ทั้งนี้ในการตรวจตราและเฝ้าระวังการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการป้องกันการทำประมง

 

ผิดกฎหมาย (IUU) อย่างเข้มข้น ขณะนี้มีการทำแผนลาดตระเวนอย่างละเอียดในทุกพื้นที่ปิดอ่าวฯ และจัดกำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยทะเล เขต 1 (ระยอง) เขต 2 (สงขลา) พร้อมบูรณาการร่วมกับศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศร.ชล.) ซึ่งประกอบด้วย 6 หน่วยงาน คือ กรมประมง กองทัพเรือ กองบังคับการตำรวจน้ำ กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมศุลกากร ในการตรวจตราเฝ้าระวังอย่างเต็มกำลังและเพิ่มความถี่ในการตรวจ พร้อมใช้ระบบเทคโนโลยี VMS ประกอบกับข้อมูลจากศูนย์แจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) ในการเฝ้าระวัง ซึ่งหากพบการกระทำผิดจะเข้าจับกุมทันที นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายต่าง ๆ อาทิ ประมงอาสา ฅนเฝ้าทะเล ยุวประมง ฯลฯ ในการช่วยเป็นหูเป็นตาแทนเจ้าหน้าที่ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีและเป็นผลพวงของความสำเร็จจากการปลูกจิตสำนึกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ให้เกิดความตระหนักรักและหวงแหนในทรัพยากรพื้นถิ่นของตน

 

แหล่งข่าววงการประมง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การประกาศปิดอ่าวครั้งนี้ คงได้ผลไม่มากนัก เพราะยังไม่มีการห้ามใช้อวนจมในการจับปลาทู การกำหนดขนาดตาอวน 2 นิ้ว ยังจับปลาทูได้ ควรให้เรือต่ำกว่า 5 ตันกรอสเท่านั้นออกจับได้ แต่รัฐยังไม่ห้ามเรือต่ำกว่า 6-9 ตันกรอส ซึ่งหลายลำมีแรงงานบนเรือมากถึง 8-9 คน ควรจำกัดไม่เกินลำละ 2-3 คน ขนาดความยาวของอวนก็ยังไม่มีการห้าม ปลาทูที่จับไปช่วงจะวางไข่ 1 ตัวมีไข่ประมาณ 30,000-150,000 ตัว หากจับไป 1 ล้านตัวจะเสียหายขนาดไหน

 

แหล่งที่มา prachachat.net