แนวทางใหม่ BOI หนุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

 

 

Q : มาตรการใหม่ ๆ ออกมามาก

 

ปลายปีนี้ เรามี package ที่เพิ่งจะอนุมัติไปและมาตรการส่งเสริมการลงทุนทยอยออกมาใหม่ รวมถึง มาตรการส่งเสริมที่หมดอายุและขยายเวลาออกไปอีก มาตรการทั้งหมดที่ออกมามีจำนวนมาก ทำให้ต้องระดมประชาสัมพันธ์ เพื่อให้นักลงทุนไทยและต่างประเทศทราบ ส่วนในปี 2561 BOI จะจัดสัมมนาใหญ่ที่นักลงทุนต้องมาฟัง

 

Q : แพ็กเกจหุ่นยนต์

 

อุตสาหกรรมอุปกรณ์อัตโนมัติและหุ่นยนต์จัดเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต นักลงทุนสามารถยื่นขอรับการส่งเสริมได้ถึง 6 Option อาทิ การใช้พลังงานทดแทน, การประหยัดพลังงาน, การรักษาสิ่งแวดล้อม, การใช้ระบบอัตโนมัติปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร และการทำวิจัยให้โรงงานหรือผู้ประกอบการเดิมขอใช้สิทธิประโยชน์ตรงนี้ได้ BOI ได้เน้นเรื่องของระบบอัตโนมัติเพราะกำลังเป็นประเด็นร้อนและคนสนใจ เนื่องจากคนต้องปรับตัว มาตรการใหม่ที่เราปรับปรุงจากมาตรการเดิม ไม่ใช่แค่ขยายเวลา แต่ขยายขอบเขตด้วย แต่ก่อนให้เฉพาะคนที่อยู่ในกิจการที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับภาษีเงินได้หรืออยู่ในกลุ่มที่เดิมทีเราไม่ได้ให้การ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้ก็มาขอได้ หรือ กลุ่ม B ให้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้

 

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการเร่งด่วนที่จะช่วยขับเคลื่อนคลัสเตอร์หุ่นยนต์ แบ่งเป็น ส่วนที่ 1 อุตสาหกรรมการผลิต (demand) จะใช้มาตรการทางภาษีด้วยการหักค่าใช้จ่ายหรือหักค่าเสื่อมเพิ่มขึ้น 3 เท่า เมื่อซื้อระบบอัตโนมัติ/หุ่นยนต์(ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 40%) และหักค่าใช้จ่าย 2 เท่าสำหรับการอบรมบุคลากร มีมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของ BOI ได้รับการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้ 2 ป สัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุน ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรกับส่วนที่ 1 อุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (supply) จะใช้มาตรการดึงดูดการลงทุนด้วยการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้ 8 ปี ลดหย่อน 50% อีก 5 ปี มีกองทุน fund of fund เพื่อลงทุนใน venture capital มีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ยกเว้นอากรขาเข้า และการทำ R&D ทดสอบสามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า การอบรมบุคลากรเฉพาะในส่วนของ BOI ล่าสุดมีมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและอุปกรณ์อัตโนมัติ โดยจะได้รับการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปีในวงเงินไม่เกิน 50% ของเงินลงทุนและแถมว่า ถ้าในกรณีที่ใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ในประเทศ เชื่อมโยงอุตสาหกรรมในประเทศ หรือถ้าใช้ “ซิสเต็มส์ อินทิเกรเตอร์ หรือ SI” ไม่น้อยกว่า 30% ของมูลค่าเครื่องจักรทั้งหมด ได้รับสิทธิเพิ่มจากเดิมจำกัดไม่เกิน 50% มาเป็นไม่เกิน 100% หรือ cap วงเงินให้จากปกติให้ 50% จะเพิ่มให้เป็น 100%

 

มาตรการนี้ BOI เชื่อว่า จะเป็นตัวช่วยผลักดันให้กับอุตสาหกรรมในประเทศ เพราะไม่งั้นดีมานด์มันอาจจะไม่มากพอที่จะสร้างอุตสาหกรรมในประเทศได้ โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ ซึ่งตอนนี้เราอาจจะยังสร้างหรือผลิตหุ่นยนต์เองไม่ได้ เราจึงต้องนำเข้าหุ่นยนต์ แต่ในอนาคตถ้าเราสร้างดีมานด์ในประเทศได้มากขึ้น คนที่ผลิตหุ่นยนต์ก็จะมองว่า มีโอกาส ซึ่งจริงๆ มีบริษัทที่มาขอ BOI แล้ว มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพเป็นการฉีกแนวไปจากปกติของ BOI เพราะที่ผ่านมาจะเน้นการขยายการผลิตถึงจะให้รับการส่งเสริม แต่นี่ผลิตเท่าเดิม แต่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพ ถามว่าเป็นหัวใจสำคัญไหม ถือว่าเป็นพอ ๆ กับการขยายกำลังการผลิต ดังนั้น BOI จึงสนับสนุนทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ และไม่ใช่เฉพาะโรงงาน ภาคบริการ ก็ขอรับการส่งเสริมได้

 

Q : ถือเป็นนโยบายใหม่

 

นโยบาย BOI เดิมมุ่งขยายการลงทุนในแง่เพิ่มกำลังการผลิต แต่ตอนนี้ประเด็นสำคัญ คือ จะทำยังไงให้คนที่มีอยู่เดิมผลิตอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องทำของที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น

 

BOI มองว่า ระบบอัตโนมัติเป็นการตอบโจทย์ได้ ทั้งลดการใช้แรงงาน ประเทศเพื่อนบ้านก็กำลังพัฒนา วันหนึ่งข้างหน้าแรงงานเหล่านี้ก็อาจจะต้องกลับไปประเทศเขา ไทยจำเป็นต้องขยับตัวทำเรื่องระบบอัตโนมัติมากขึ้น เลยมองว่าการปรับปรุงประสิทธิภาพเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ใช่เฉพาะการเพิ่มกำลังการผลิต

 

จากที่เราเน้นนักลงทุนรายใหม่ แต่มายุคนี้จะเน้นเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพ ที่ต้องมาชูเรื่องนี้ขึ้นในเวลานี้ เพราะ ต้องการให้เกิด transformation ทั้งในรายเก่าและรายใหม่ ให้เขาปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งสองเรื่องนำมาซึ่งเงินลงทุนอยู่แล้ว

 

หมายความว่า คนที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตก็ต้องใช้เงินลงทุนเช่นกันต้องนำเม็ดเงินใส่เข้ามาในระบบ นำเงินไปซื้ออุปกรณ์เครื่องจักรใหม่ ขณะที่การจ้างคนก็จะเปลี่ยนไปเพราะเปลี่ยนจากการใช้แรงงานคนมาเป็นการใช้เครื่องจักรมากขึ้น และคนที่เข้ามาทำงานในโรงงานหรือในบริษัทจะต้องมีทักษะที่ไม่เหมือนเดิม

 

Q : การส่งเสริมในพื้นที่ EEC

 

สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะสิ้นสุดในปี 2561 ขณะนี้มีนักลงทุนยื่นขอรับสิทธิประโยชน์เข้ามา 2 ส่วนคือ นักลงทุนที่อยู่ในพื้นที่ EEC (ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง) และยื่นขอ BOI ในพื้นที่ EEC โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขอใช้สิทธิ์ตามแพ็กเกจ EEC อย่าลืมว่า นักลงทุนที่อยู่ในพื้นที่ EEC ใช่ว่าจะขอใช้มาตรการส่งเสริมตามแพ็กเกจ EEC ได้ทุกราย ขึ้นอยู่กับว่ากิจการอะไร เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือไม่

 

ขณะนี้นักลงทุนที่อยู่ในพื้นที่ EEC ยื่นขอรับการส่งเสริม 9 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 229 โครงการมูลค่า 104,000 ล้านบาท จังหวัดที่มีการลงทุนมากที่สุดคือ ระยอง กว่า 84 โครงการมูลค่า 48,000 ล้านบาท

 

ส่วนนักลงทุนที่ยื่นขอภายใต้แพ็กเกจ EEC ตอนนี้มี 88 โครงการ มูลค่า 97,000 ล้านบาท สัดส่วนนักลงทุนจะพอ ๆ กันทั้งรายเก่าที่ขอขยายกำลังผลิตและรายใหม่ ซึ่งแพ็กเกจ EEC จะได้สิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ของ BOI ที่ให้สิทธิประโยชน์สูงสุดอยู่ที่ 13 ปี

 

ส่วน พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่จะประกาศใช้ในปี 2561 นั้น สิทธิประโยชน์ตามแพ็กเกจ EEC ก็จะยังคงอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนของ BOI เพราะ พ.ร.บ.ฉบับนี้ดีไซน์ package สำหรับ EEC อยู่แล้ว

 

ยกตัวอย่าง package เดิม BOI ให้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษี 50% เพิ่มเติม 5 ปีสำหรับทุกพื้นใน EEC แต่ใน package ใหม่ที่มีการปรับและผ่านบอร์ดไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน จะให้สิทธิประโยชน์แตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ และแต่ละพื้นที่มีเงื่อนไข เช่น เขตส่งเสริมกิจการพิเศษ คือ เมืองการบินสนามบินอู่ตะเภา หรือ EECi และ EECd บวกของเดิม + เพิ่มอีก 2 ปีและลดหย่อนภาษี 50% 5 ปี

 

ในเขตส่งเสริมพิเศษสำหรับกิจการเป้าหมาย S-Curve ให้ลดหย่อนภาษี 50% 5 ปี และเขตอุตสาหกรรมอื่น ๆ ให้ลดหย่อนภาษี 50% 3 ปี ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าไปอยู่ในพื้นที่เขตส่งเสริม ฉะนั้นจึงต้องออกมาตรการให้มีความแตกต่าง

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์