ประมงป่วนห้ามจับปลา 3 เดือน แพปลา-โรงงานวูบ 3 แสนล้าน
นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันอังคารที่ 12 สมาคมเปิดประชุมในวาระพิเศษหลายเรื่อง โดยเรื่องที่สำคัญที่สุดและเร่งด่วนคือ การขอทวงสิทธิ์วันทำการประมงคืน เนื่องจากขณะนี้เวลาทำการประมงตลอดปี 2559-2560 ของเรือประมงพาณิชย์ประมาณ 1 หมื่นลำของไทยจะหมดในสิ้นปีนี้ จะทำให้ตั้งแต่ช่วงปีใหม่วันที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2561 เรือประมงไทยจะไม่สามารถออกทำการประมงจับปลาได้เป็นเวลา 3 เดือน ในขณะที่การออกใบอนุญาตทำการประมงใหม่ปี 2561-62 ต้องรอถึงเดือนเมษายน 2561 เรือประมงพาณิชย์จึงจะออกจับปลาได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่อเนื่องทั้งการจัดซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ ของเรือก่อนออกจับปลา การขายปลาให้กับพ่อค้า แพปลา โรงงานแปรรูปส่งออกจะหายไปประมาณ 3 แสนล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมผลกระทบที่จะเกิดจากการนำเข้าปลาราคาแพงมาทดแทนในช่วงที่มีการท่องเที่ยวกันค่อนข้างมากด้วย
ทางสมาคมจะเข้าพบ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เสนาธิการทหารบก ณ กองทัพบก ในวันเดียวกัน เพื่อขอให้ทางกองทัพช่วยเหลือ ในการเพิ่มระยะเวลาทำการประมงปี 2559-2560 คืนให้เรือประมงพาณิชย์ด้วย นอกเหนือจากการขอเข้าพบนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนใหม่ให้ช่วยเหลือ ซึ่งตามแนวทางที่สมาคมจะเสนอคือ 1.นำจำนวนเรือประมงพาณิชย์ 1,400 ลำที่มีการตรวจสอบช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา และไม่มีเรืออยู่จริง แต่มีการเอาทะเบียนเรือไปขอใบอนุญาตทำการประมงปี 2559-60 ได้ก่อนหน้านั้นมาคืน โดยคูณค่า MSY (ผลผลิตสัตว์น้ำสูงสุด) เข้าไปเพื่อนำมาคืนให้เรือประมงพาณิชย์ทั้งหมด 2.เรือประมงพาณิชย์ที่มีใบอนุญาตทำการประมงปี 2559-60 แต่หยุดไป 2 ปีเพราะไม่มีแรงงานออกจับปลา หรือทุนซ่อมแซมไม่พอสภาพเรือไม่พร้อมออกจับปลา ให้คูณค่า MSY แล้วเอาเวลาทำการประมงมาคืน 3.ปริมาณสัตว์น้ำที่กรมประมงขอกันสำหรับการบริหารจัดการอีก 10% หรือประมาณ 1.5 แสนตันของค่า MSY ปีทำการประมง 2559-60 มาคืน รวมแล้วเรือประมงพาณิชย์ที่จับปลาอยู่จริงเหลืออยู่ประมาณ 9,000 ลำ จะได้ระยะเวลาการทำประมงคืนมาอีกลำละ 50-60 วัน ซึ่งจะช่วยแก้สถานการณ์ประมงไม่ให้วิกฤตในไตรมาสแรกปีหน้าได้ โดยเฉพาะแรงงานประมงต่างด้าวที่ขาดแคลนอยู่แล้ว อาจกลับไปทำงานที่ประเทศตนเองได้หากต้องหยุดยาว และเรื่องนี้สามารถชี้แจงกับสหภาพยุโรป (อียู) ได้
“ทางหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศคำสั่งฉบับที่ 22/2560 ให้กรมเจ้าท่าและกรมประมงออกตรวจสอบเรือประมงพาณิชย์ว่ามีอยู่จริงแค่ไหนในเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่ามีอยู่จริง 10,600 ลำ จากที่ไปขอใบอนุญาตทำการประมงปี 2559-60 ได้จำนวน 12,000 ลำ ซึ่งขณะนี้เรือหยุดออกจับปลาจำนวนมาก โดยเฉพาะในจังหวัดปัตตานี หมดเวลาทำการประมงก่อนจำนวนมาก จึงไปร้องเรียนนายกรัฐมนตรี และท่านเสนาธิการทหารบกได้เร่งประชุมหารือกับสมาคมประมงนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ระนอง ขนอม และนายกสมาคมชาวสวนยางจังหวัดต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาในช่วงก่อนหน้านี้ ทางสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยจึงขอเข้าประชุมหารือกับท่านอีกครั้งในเรื่องนี้ รวมทั้งเรื่องการบังคับใช้กฎหมายประมงที่เป็นความผิดเล็กน้อย แต่มีบทลงโทษที่ค่อนข้างรุนแรงด้วย”
ผู้ผลิตปลาป่นรับผลกระทบ
ทางด้านผลกระทบต่อโรงงานปลาป่นที่จะไม่มีวัตถุดิบป้อนหากเรือออกจับปลาไม่ได้นั้น นายสงวนศักดิ์ อัครวรินทร์ชัย นายกสมาคมกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากเรือออกจับปลาไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโรงงานปลาป่นแน่ เพราะทุกวันนี้ โรงงานปลาป่นเมื่อผลิตเสร็จจะขายทันทีไม่มีการสต๊อกเก็บไว้ขาย ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะผลิตปลาป่นได้ 2.8 แสนตัน 11 เดือนแรกส่งออกไปแล้วประมาณ 9.5 หมื่นตัน เทียบกับปี 2559 ผลผลิตปลาป่น 3.1 แสนตัน ส่งออกประมาณ 1.5 แสนตันเศษ และปีนี้มีการนำเข้าปลาป่นจากปลาน้ำจืด 7 หมื่นตัน ทั้งจากเวียดนามและเมียนมา
เชื่อหยุดจับสัตว์น้ำปีหน้าไม่กระทบ
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารทะเลแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า กรณีจะไม่มีการจับสัตว์น้ำในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมศกหน้านี้ เบื้องต้นมองว่าไม่ได้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกแต่อย่างใด เนื่องจากวัตถุดิบที่อยู่ภายในประเทศนั้นมีจำนวนไม่เพียงพอในการแปรรูปส่งออกอยู่แล้ว อีกทั้งยังต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศอยู่ ดังนั้น จึงมองว่าไม่มีผลกระทบมากนัก อีกทั้งในช่วงเวลาที่มีการหยุดจับสัตว์น้ำในช่วงเวลานั้น ก็เป็นช่วงที่มีวัตถุดิบน้อยอยู่แล้ว จึงไม่น่ามีปัญหา ผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกก็ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องมีการนำเข้าเพื่อสต๊อกวัตถุดิบ หรือจับสัตว์น้ำ เพื่อนำไว้เพื่อแปรรูปและส่งออกแต่อย่างใด
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์