3ปี “ประมงไทย” อ่วมพิษ IUU จี้รัฐแก้กฎหมาย-ลดใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ-
รัฐใช้อำนาจเบ็ดเสร็จแก้ IUU
ทำให้รัฐบาลไทยต้องแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เร่งด่วน ทั้งออกพ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไขปี 2560 ออกกฎระเบียบข้อบังคับตามมาเกือบ 300 ฉบับ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการใช้ดุลพินิจพิจารณาการกระทำผิด แม้จะเป็นโทษเล็กน้อย แต่มีบทลงโทษรุนแรงในหลายเรื่อง
ขณะเดียวกับก็ขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ส่งผลกระทบประมงไทยในวงกว้าง
EU กดดันเร่งลงโทษผู้ฝ่าฝืน
ขณะเดียวกันแม้รัฐบาลไทยจะออกกฎหมายและกฎระเบียบจำนวนมาก และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง อย่างระบบตรวจสอบย้อนกลับที่สามารถตรวจสอบได้จริง ปัญหาแรงงานประมงผิดกฎหมายได้รับการแก้ไขจนอียูพอใจ แต่กระบวนการพิจารณาลงโทษชาวประมงยังถูกมองว่าล่าช้า ไทยจึงถูกอียูเร่งรัดกดดันซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่รัฐบาลไทยในฐานะฝ่ายบริหารเข้าไปก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรมได้ลำบาก
ล่าสุด กลางเดือน ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ได้บินไปรายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายต่อคณะกรรมาธิการการประมงของอียูที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม อีกครั้ง หลังจากคณะกรรมาธิการด้านการประมง รัฐสภายุโรป (อียู) เข้ามาตรวจสอบความก้าวหน้าในเรื่องต่าง ๆ ในไทยช่วงเดือน พ.ย. 2560
ใบอนุญาตติดล็อก-ปลาราคาพุ่ง
เมื่อแผนการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายมีความคืบหน้าไปมาก รัฐบาลจึงหันกลับมาแก้ไขปัญหาที่ชาวประมงร้องเรียนมากขึ้น โดยช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผู้บริหารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้เข้าหารือ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลายเรื่อง
ที่สำคัญเร่งด่วนคือ ระยะเวลาทำประมงที่กรมประมงออกใบอนุญาตให้ 2 ปี (ปี 2559-2560) ให้ทำประมงเฉลี่ยปีละ 220 วัน โดยใบอนุญาตทั้งหมดจะหมดอายุลงปลายปี 2560 จากนั้นไม่สามารถออกจับปลาได้ไตรมาสแรกปี 2561 ชาวประมงจึงขาดรายได้ ปลาจะขาดแคลนและราคาสูงขึ้น
รัฐไฟเขียวเพิ่มวันจับปลา
ชาวประมงจึงเรียกร้องให้กรมประมงเพิ่มวันทำการประมงให้กับเรือประมงทุกประเภทเครื่องมือ เพื่อความเท่าเทียมกันด้วยเหตุผล 1.เรือประมงที่ถูกนำมาคำนวณค่า MSY ในปี 2559-2560 ไม่มีอยู่จริง 1,400 ลำ จากการตรวจสอบเมื่อ เม.ย. 2560 2.มีเรือประมงที่มีใบอนุญาตทำประมง แต่ไม่ได้ออกทำการประมงช่วงปี 2559-2560 อีกเกือบ 1,000 ลำ เป็นต้น 3.กรมประมงได้กันจำนวนสัตว์น้ำเอาไว้ใช้ในการบริหารจัดการอีกอย่างน้อย 10% ของค่า MSY ปี 2559-2560 ที่ได้รับอนุมัติ
ผลการหารือ กรมประมงจะให้เวลาทำการประมงเพิ่มในเดือน ม.ค. 2561 แก่ชาวประมงแต่ละราย 30 วันแรกไปก่อน ที่เหลือต้องให้คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาเดือน ม.ค. 2561 หากอนุมัติจะมีระยะเวลาทำการประมงเพิ่มอีก 20-30 วัน
จี้รัฐแก้กฎหมาย-รับซื้อเรือ
นอกจากนี้ ให้นายนิวัฒน์ สุธีมีชัยกุล ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ และอดีตอธิบดีกรมประมง เป็นประธานฝ่ายรัฐร่วมกับตัวแทนชาวประมง เร่งพิจารณาแก้ปัญหาต่าง ๆ อาทิ 1.คืนสิทธิ์เรือตกสำรวจ 2.พิจารณาซื้อกลุ่มเรือขาวแดงและเรือที่มีใบอนุญาตทำการประมงที่ประสงค์จะขายคืนรัฐ 3.ทบทวน พ.ร.ก.การประมง 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่บทลงโทษรุนแรงเกินไป และมีการออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่เป็นธรรมหลายกรณี ที่กระทำผิดโดยไม่เจตนา ผิดเล็กน้อย 4.พิจารณาปรับปรุง คำสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบ (คสช.) ที่ 22/2560 ข้อ 22 ประเด็นการสั่งกักเรือ เนื่องจากส่อขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสอง เป็นต้น
ล่าสุด ผู้บริหารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เข้าพบพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ 27 ธ.ค. 2560 ขอให้รัฐซื้อเรือคืน 1,913 ลำ หลังชาวประมงต้องจอดเรือออกหาปลาไม่ได้มาหลายปี ทำให้มีหนี้สินตามมา หากได้รับไฟเขียว ย่อมส่งผลดีต่อชาวประมงกลุ่มนี้ ทำให้พอมีเงินมาชดใช้หนี้
ตังเกไทยหนีตาย
จากการที่ทางการไทยค่อนข้างเข้มงวดกับเรือประมงไทยที่จะออกไปจับปลามาขายตามกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ มากมาย เนื่องจากถูกอียูกดดัน ทำให้เรือไทยต้องปรับตัวขนานใหญ่ นายประเสริฐ ศิริ เจ้าของเรือประมงและกิจการท่าเทียบเรือกัลปังหา บ้านคลองสน อ.คลองใหญ่ จ.ตราด กล่าวว่า พ.ร.ก.การประมง และคำสั่งคสช.ที่ใช้บังคับมา 3 ปี กระทบชาวประมงมาก ทำให้ต้องปรับตัวทั้งเรื่องการใช้แรงงาน การใช้เครื่องมือทำการประมง การขอใบอนุญาต เรือประมงที่ถูกต้องจึงลดน้อยลง หรือเลิกอาชีพไป นอกจากนี้มีเรือประมงไทยจำนวนหนึ่งหันไปทำการประมง โดยใช้ท่าเทียบเรือกัมพูชา และขายปลาในเกาะกง สีหนุวิลล์แทน เพราะไม่เข้มงวดมาก และต้องการปลา อาหารทะเลปริมาณสูง
“2 ปีเศษ ๆ เรือประมงที่ใช้ท่าเทียบเรือกัลปังหาลดลงถึง 60% ปริมาณสัตว์น้ำลดลง 50% จากต้นทุนที่สูงขึ้น และแรงงานหายากและค่าแรงแพง ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เจ้าของเรือประมงบางรายตัดสินใจขายให้พ่อค้ากัมพูชา เพราะสีหนุวิลล์ เป็นเมืองท่องเที่ยว มีนักลงทุน นักท่องเที่ยวจีนเข้ามามาก และนิยมบริโภคอาหารทะเล ขณะที่กัมพูชามีศักยภาพด้านการประมงน้อยกว่าไทย ปริมาณสัตว์น้ำจึงไม่เพียงพอ” นายประเสริฐกล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์